มีผู้คิดค้นสูตรควบคุมอาหารที่ใช้แนวคิดวิถีพร่องแป้งหลายสูตร ซึ่งมีความแตกต่างกัน แต่อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าเป้าหมายของการตามดำเนินวิถีชีวิตพร่องแป้งก็คือการบริโภคอาหารที่มีส่วนประสมของแป้งและน้ำตาล ต่ำกว่าวันละ 100 กรัม อาหารพวกแป้งและน้ำตาลหรือที่เรียกว่า คาร์โบไฮเดรท ที่คนไทยรู้จักดีก็มีเช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ขนมหวาน ของขบเคี้ยวหรือสแน็กส่วนใหญ่ น้ำหวาน ผลไม้หวาน ซึ่งเป็นอาหารที่ต้องงด หรือลดลงให้เหลือน้อยที่สุด อาหารหลายอย่างอาจมีส่วนประสมของแป้งหรือน้ำตาลซึ่งมองไม่เห็นชัดเจนนัก เช่น นมสด (มีน้ำตาลนมแล็คโตส) ผลไม้หวาน ผักและผลไม้ที่ไม่หวานหลายชนิดก็มีส่วนผสมของแป้งค่อนข้างสูงซึ่งจะต้องลดการบริโภคลงเช่นกัน

 

จุดสำคัญที่ควรจะต้องรู้ไว้ด้วยก็คือ อาหารในหมวดคาร์โบไฮเดรตเอง แบ่งเป็นสองกลุ่ม ตามความสามารถในการถูกดูดซับและเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลในเลือด ( glycemic index หรือ GI) น้ำตาล น้ำหวาน สามารถดูดซับและเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลในเลือดได้เกือบทันที ค่า GI สูงสุด ถัดลงมาก็เป็นอาหารที่ทำจากแป้ง เช่น ขนมปัง เส้นสปาเกตตี้ ก๋วยเตี๋ยว รวมถึงข้าว ค่า GI สูง ส่วนคาร์โบไฮเดรตที่ปนอยู่ในผัก ผลไม้ จะมีค่า GI ต่ำ รวมถึงขนมปังที่ทำจากโฮลเกรน กลุ่มนี้ถึงแม้จะมีคาร์โบไฮเดรต แต่ก็มีเส้นใย วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆที่จำเป็นต่อร่างกาย ดังนั้น คาร์โบไฮเดรตที่เรารับประทานได้บ้างตามวิถีพร่องแป้งนั้น ควรมาจากผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงน้ำตาลและอาหารที่ทำจากแป้งทั้งหลาย

 

สำหรับอาหารพร่องแป้ง หรือมีส่วนของคาร์โบไฮเดรทต่ำ ก็คือ กลุ่มโปรตีนและไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ทุกชนิด, ปลาและอาหารทะเล, ไข่, เนย, น้ำมันและถั่วหลายชนิด กลุ่มนี้รับประทานได้ไม่จำกัด


(ดูตัวอย่างสูตรอาหารพร่องแป้งแบบไทยๆ ที่นี่)