“พริกไทยดำ” เป็นหนึ่งในเครื่องเทศไทยที่ได้รับนิยมมาก ทำอาหารไทยเมื่อใดก็เมื่อนั้นขาดกันเสียไม่ได้ กลิ่นหอมและรสชาติเผ็ดร้อนนิดๆ เร้าใจเสมอเมื่อได้ลิ้มรส แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนจากเครื่องเทศที่เคยใช้เพิ่มรสอาหาร ได้ถูกนำมาบริโภคเพื่อความงามแทน ด้วยเชื่อว่าจะช่วยเผาผลาญส่วนเกินของร่างกายออกมาได้ จะมีใครรู้บ้างว่าการกิน “พริกไทยดำ” ในปริมาณมากๆ ต่อเนื่องกัน เพื่อเสริมความงามนั้นเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
ล่าสุดนักวิจัยรามาฯ เตือนการกิน “พริกไทยดำ” มากๆ ต่อเนื่องกัน เพื่อเสริมความงามเสี่ยงเป็นมะเร็ง เพราะได้รับ “สารอัลคาลอยด์” สะสม แต่การกินตามปกติเพื่อชูรสใส่พริกไทยดำเพียงเล็กน้อย ร่างกายขับออกได้ เรียกร้องคนไทยอย่ากินตามปาก ควรกินอย่างมีสติ ชี้อาหารมีทั้งสารที่เป็นประโยชน์และก่อโทษในร่างกาย หวั่นกระแสแฟชั่น “เคี้ยวหมาก” จะลามสู่คนไทย ซึ่งเด็กและผู้ใหญ่อินเดีย ปากีสถาน ไต้หวันนิยมมาก เนื่องจาก “ลูกหมาก” มีสารก่อมะเร็ง
ศ.ดร.วรนันท์ ศุภพิพัฒน์ จากสำนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อาหารเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะผ่านการย่อย การดูดซึม นำไปใช้ประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต เสริมสร้างร่างกาย รวมทั้งซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ผู้ที่ได้รับอาหารและโภชนาการที่ดี ร่างกายจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หากกินอาหารไม่ถูกส่วน หรือได้รับสารพิษ สารแปลกปลอมวัตถุเจอปนอาหารมากเกินไป ทำให้ร่างกายไม่พัฒนา เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ฉะนั้นการบริโภคอาหารจึงควรมีสติ มิใช่กินตามปาก ซึ่งอาหารที่คนบริโภคมี 2 แหล่งใหญ่ คือ พืชและสัตว์ มีสารอาหารสำคัญคือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่นอกจากนั้นอาหารยังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ แต่ไม่ใช่สารอาหารพบมากในธัญพืช ผัก ผลไม้ เช่น สารไฟโตเอสโตรเจน แคโรทีนอยด์ ใยอาหาร ซึ่งสารเหล่านี้มีข้อมูลทางวิชาการว่า เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดการเป็นมะเร็ง หากรับประทานในสัดส่วนที่เหมาะสมร่างกายจะแข็งแรง ไม่เจ็บไข้
ศ.ดร.วรนันท์ กล่าวว่า อาหารมีสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และมีสารเป็นพิษต่อร่างกายด้วย เช่น ปลาปักเป้าสร้างพิษเทโทรโดทอกซิน ทำลายการทำงานของเส้นประสาท ชาที่ปลายประสาทถึงเสียชีวิตได้ เห็ดพิษ เช่นเห็ดระโงกหิน ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หน่อไม้ มันสำปะหลัง มีไซยาไนด์ พบในรูป “ไกลโคไซ” เนื่องจากไปรวมกับสารชนิดอื่น ๆ มันฝรั่ง มีสารพิษ “โซลานิน” เกิดพิษต่อระบบประสาท มันฝรั่งที่ปอกเปลือกจะมีสารพิษนี้น้อยกว่าและมันฝรั่งที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนจะมีสารพิษนี้ปริมาณสูง ยิ่งมันฝรั่งแตกหน่อมีรากงอกยิ่งมีสารพิษโซลานินสูงมาก ควรทิ้งไปทั้งลูก อย่าเฉือนออกแล้วนำส่วนที่เหลือมาบริโภค เนื่องจากสารพิษซึมทั่วหัวมันฝรั่งแล้ว นอกจากนี้ ในพริกไทยดำมีสาร “อัลคาลอยด์ ไพเพอร์ริน” เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่มของเอนไนโตรโซไพเพอร์ริดีน (N nitroso piperidine)
“มะเร็งเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายชนิดร่วมกัน ทั้งปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมี รังสี ไวรัส พวกพยาธิใบไม้ตับทำให้เป็นมะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งตับ วิถีการใช้ชีวิตสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กินอาหารมีสารก่อมะเร็ง ปัจจัยในร่างกายเราที่เลี่ยงไม่ได้เช่น กรรมพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกัน ภาวะโภชนาการ ในคนอ้วนเสี่ยงมะเร็งระบบทางเดินอาหาร”ศ.ดร.วรนันท์ กล่าว
ศ.ดร.วรนันท์ กล่าวด้วยว่า "สารก่อมะเร็งในกลุ่มของเอนไนโตรโซไพเพอร์ริดีน (N nitroso piperidine) เกิดจาก สาร “อัลคาลอยด์ ไพเพอร์ริน” ในพริกไทยดำทำปฏิกิริยากับกลุ่มไนโตรเจน ควรลดหรืองดการบริโภคพริกไทยดำ อย่างไรก็ตาม การบริโภคตามปกติในแต่ละวันจะได้รับสารนี้น้อยมาก เพราะพริกไทยดำเป็นเพียงตัวชูรส เพิ่มรสชาติ แต่สำหรับผู้ที่ใช้พริกไทยดำเพื่อเสริมความงาม บริโภคครั้งละมาก ๆ เป็นเวลานานติดต่อกัน เป็นการสะสมสารเป็นพิษ มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูง"
นอกจากนี้ ลูกหมาก ก็มีสารอัลคาลอยด์สูงเช่นกัน โดยสารนี้ทำให้เนื้อเยื่อช่องปากอักเสบและเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งช่องปาก ซึ่งปัจจุบันพบว่า ประเทศอินเดีย ปากีสถาน ไต้หวัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นิยมเคี้ยวหมากมากขึ้น บางแห่งกลายเป็นกระแสแฟชั่นตามสมัยนิยม การเคี้ยวหมาก 1 คำ ประกอบด้วยใบพลู ลูกหมาก ปูน ยาเส้น และส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ สารเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดความระคายเคืองจึงควรรณรงค์ให้ประชาชนทราบ และเป็นเรื่องดีที่ประเทศไทย ความนิยมเคี้ยวหมากลดลงแล้ว
- รายละเอียด
- เขียนโดย Sasara Sasara
- หมวด: Sasara Blog Sasara Blog
- เผยแพร่เมื่อ: 01 พฤษภาคม 2548 01 พฤษภาคม 2548
- ฮิต: 20339 20339